ถอดรหัสมาตรฐานน้ำมันเครื่อง ต้องเลือกแบบไหนถึงใช่สไตล์รถคุณ
“น้ำมันเครื่อง” มีความสำคัญต่อการทำงานของเครื่องยนต์เป็นอย่างมาก โดยมีหน้าที่ในการหล่อลื่น ปกป้องเครื่องยนต์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และยืดอายุการใช้งานของเครื่องยนต์อีกด้วย
การเลือกใช้น้ำมันเครื่องให้เหมาะสมกับรถที่ใช้งานอยู่จึงเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากจะต้องดูประเภทของเครื่องยนต์ ประเภทน้ำมันเครื่องและเบอร์ความหนืดแล้ว ยังต้องดูมาตรฐานของน้ำมันเครื่องควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้รถของคุณใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
แต่มาตรฐานน้ำมันเครื่องแต่ละชื่อย่อมาจากอะไรนั้น วันนี้ PTT Lubricants จะมาถอดรหัสมาตรฐานน้ำมันเครื่อง เพื่อให้รถของคุณเลือกใช้งานได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น จะมีมาตรฐานอะไรบ้างนั้น ไปดูกันเลย!
API
ย่อมาจาก American Petroleum Institute หรือ สถาบันปิโตรเลียมแห่งสหรัฐอเมริกาเป็นหน่วยงานผู้กำหนดมาตรฐานของน้ำมันเครื่องโดยต้องมีการทดสอบคุณภาพน้ำมันเครื่องทั้งในด้านการหล่อลื่น การระบายความร้อน การชะล้างทำความสะอาด และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับน้ำมันเครื่อง
โดยตัวอักษรที่ต่อท้ายชื่อองค์กร API จะบอกประเภทของเครื่องยนต์ที่เหมาะสมต่อการใช้งาน ดังนี้
• S = เครื่องยนต์เบนซิน เช่น SA, SB โดยมาตรฐานล่าสุดคือ API SP
• C = เครื่องยนต์ดีเซลงานหนัก เช่น CA, CB โดยมาตรฐานล่าสุดคือ API CK-4
• F = เครื่องยนต์ดีเซลงานหนัก และน้ำมันเครื่องมีคุณสมบัติช่วยเพิ่มการประหยัดเชื้อเพลิง โดยมาตรฐานล่าสุดคือ API FA-4
- โดยน้ำมันเครื่องที่ได้รับมาตรฐานที่ใหม่กว่านั้นจะสามารถ ใช้ทดแทนมาตรฐานเก่าได้ เช่น น้ำมันเครื่องที่ผ่านมาตรฐาน API SP สามารถใช้กับเครื่องยนต์ที่คู่มือระบุว่าต้องการน้ำมันเครื่องมาตรฐาน API SN ได้ เป็นต้น
ACEA
ย่อมาจาก European Automobile Manufacturers Association หรือ สมาคมผู้ผลิตยานยนต์แห่งทวีปยุโรป
โดยตัวอักษรที่ต่อท้ายชื่อองค์กร ACEA จะบอกชนิดของเครื่องยนต์ที่เหมาะสมต่อการใช้งาน ดังนี้
• A = เครื่องยนต์เบนซินที่ไม่ได้ติดตั้งกรองอนุภาคไอเสีย (Gasoline Paticulate Filter, GPF)
• B = เครื่องยนต์ดีเซลงานเบาที่ไม่ได้ติดตั้งกรองอนุภาคไอเสีย (Diesel Particulate Filter, DPF)
• C = เครื่องยนต์เบนซินและดีเซลงานเบาที่ติดตั้งกรองอนุภาคไอเสีย GPF และ DPF
• E = เครื่องยนต์ดีเซลงานหนัก
JASO
ย่อมาจาก Japanese Automotive Standards Organization หรือ องค์กรมาตรฐานยานยนต์แห่งประเทศญี่ปุ่น จัดตั้งโดยกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่นง
โดยตัวอักษรที่ต่อท้ายชื่อองค์กร JASO จะบอกชนิดของเครื่องยนต์ที่ใช้ได้ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ สำหรับรถเครื่องยนต์ดีเซลและรถมอเตอร์ไซค์ ดังนี้
มาตรฐานสำหรับรถเครื่องยนต์ดีเซล
• CC/CD = รถบรรทุกญี่ปุ่นรุ่นเก่า
• DH-1 = รถบรรทุกญี่ปุ่นรุ่นใหม่
• DH-2/DL-1 = รถบรรทุก/รถปิคอัพญี่ปุ่นรุ่นใหม่ที่ติดตั้งชุดอุปกรณ์บำบัดไอเสีย
*แนะนำมาตรฐานไหน ใช้มาตรฐานนั้น
สำหรับรถมอเตอร์ไซค์
• MA1/MA2 = ระบบเกียร์ธรรมดาคลัทช์เปียก
• MB = ระบบเกียร์อัตโนมัติ
เพียงเท่านี้ก็สามารถเลือกน้ำมันเครื่องได้เหมาะกับรถของคุณแล้ว เลือกใช้น้ำมันเครื่องคุณภาพจาก PTT Lubricants สามารถหาซื้อได้ที่ PTT Station หรือร้านค้าที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ PTT Lubricants ใกล้บ้านคุณ💙