4 ทริครับมือรถเบรกแตก เบรกยังไงก่อนเซฟชีวิตไม่อยู่

1543 ผู้เข้าชม

แชร์ Card image cap

 

4 ทริครับมือรถเบรกแตก เบรกยังไงก่อนเซฟชีวิตไม่อยู่

“อุบัติเหตุ” เป็นเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แม้ว่าเราจะพยายามขับรถอย่างมีสติและไม่ประมาทมากแค่ไหน แต่เมื่อต้องใช้ถนนร่วมกับผู้อื่นก็อาจเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุได้

“รถเบรกแตก” เอง ก็เป็นหนึ่งในอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตของผู้ขับขี่ได้ แต่ถ้าหากรู้วิธีรับมือเมื่อรถเบรกแตกแล้ว การหลีกหนีอันตรายถึงชีวิตก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

วันนี้ PTT Lubricants พามาส่องสาเหตุที่ทำให้เกิดรถเบรกแตก และแชร์ 4 ทริครับมือเมื่อรถเบรกแตกกันครับ เพื่อพร้อมรับมือกับเหตุการณ์รถเบรกแตกได้อย่างปลอดภัย จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย!

 

สาเหตุที่ทำให้เกิดรถเบรกแตก

1. น้ำมันเบรกเสื่อมสภาพ

หากน้ำมันเบรกเสื่อมสภาพ อาจทำให้ลูกยางในชิ้นส่วนระบบเบรก เช่น แม่ปั๊มเบรกและลูกสูบเบรกซึ่งทำหน้าที่ป้องกันน้ำมันรั่วเสื่อมสภาพตามไปด้วย ส่งผลให้น้ำมันเบรกเกิดการรั่วซึมออกมา ซึ่งสามารถเช็กได้ง่าย ๆ ด้วยการถอดล้อ จานเบรก แล้วเปิดยางกันฝุ่นที่ครอบตัวกระบอกปั๊มออกมา หากมีน้ำมันเบรกรั่วควรรีบเปลี่ยนทันที

2. สายอ่อนหรือท่อทางเดินน้ำมันเบรกรั่ว

หากมีคราบหรือรอยซึมของน้ำมันเบรกไหลออกมาจากสายอ่อนก็แสดงว่าน้ำมันเบรกรั่วนั่นเอง

3. แรงดันของน้ำมันเบรกมาไม่เต็มระบบ

เกิดจากการมีอากาศอยู่ในระบบน้ำมันเบรก อาจเกิดจากการไล่อากาศออกจากระบบไม่หมดในขั้นตอนการเปลี่ยนน้ำมันเบรกได้ ซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถส่งแรงดันของน้ำมันเบรกได้อย่างเต็มที่

4. ระดับน้ำมันเบรกต่ำเกินไป

เมื่อระดับน้ำมันเบรกหรือปริมาณน้ำมันเบรกในระบบลดลงต่ำกว่าเกณฑ์ที่เหมาะสมจะส่งผลให้เบรกใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ทั้งเบรกไม่ค่อยอยู่หรือเบรกจมลึกกว่าปกติ ควรรีบตรวจเช็กและเติมน้ำมันเบรกให้ถึงระดับที่กำหนดเพื่อความปลอดภัย

5. น้ำมันเบรกชื้น

เนื่องจากน้ำมันเบรกมีความสามารถในการดูดความชื้นจากบรรยากาศได้ดี (Hygroscopic) จึงส่งผลให้จุดเดือดของน้ำมันเบรกมีแนวโน้มลดต่ำลงเรื่อย ๆ ตามระยะการใช้งาน ทั้งนี้ในขณะที่เราเหยียบเบรกนั้น อุณหภูมิของน้ำมันเบรกจะค่อย ๆ สูงขึ้นจากการสร้างแรงดันน้ำมันภายในระบบเบรก รวมถึงการได้รับความร้อนบางส่วนที่เกิดจากการเสียดสีกันระหว่างผ้าเบรกและจานเบรก  โดยหากน้ำมันเบรกมีปริมาณน้ำหรือความชื้นปนเปื้อนสะสมอยู่มากจนเกินไป เมื่ออุณหภูมิของน้ำมันเบรกในขณะใช้งานสูงกว่าจุดเดือดของน้ำมันเบรกแล้วจะทำให้น้ำมันเบรกบางส่วนเกิดการระเหยกลายเป็นไอหรือเกิด Vapor Lock ขึ้นภายในท่อทางการไหลของน้ำมันได้ ส่งผลให้ลูกสูบไม่สามารถทำงานได้เต็มที่จนเบรกไม่อยู่หรือเบรกแตกนั่นเอง ดังนั้นเราจึงควรเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเบรกตามระยะทางหรือระยเวลาที่เหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำมันเบรกมีน้ำปนเปื้อนสะสมมากจนเกินไป

6. สายน้ำมันเบรกขาด

สามารถเช็กได้เองง่าย ๆ โดยการสังเกตใต้ท้องรถว่ามีน้ำมันรั่วซึมหรือไม่ และก่อนที่จะขับรถให้ทดสอบด้วยการเหยียบเบรกว่ายังใช้งานได้อยู่หรือไม่

7. ผ้าเบรก

หากผ้าเบรกไหม้หรือหมด ก็มีโอกาสที่รถจะเบรกไม่อยู่หรือรถเบรกแตกได้เช่นกัน

 

4 ทริครับมือเมื่อรถเบรกแตก

1. ตั้งสติให้ดี 

หากลนลาน ตกใจหรือไม่มีสติ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ ดังนั้นสิ่งแรกที่ควรทำคือการตั้งสติ จะช่วยให้สามารถประเมินสถานการณ์เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและบังคับรถได้

2. ถอนคันเร่ง 

ถอนคันเร่งและเปลี่ยนเป็นเกียร์ต่ำ เพื่อลดความเร็วของรถลง แนะนำใช้ระบบ Engine Brake หากเป็นรถเกียร์ธรรมดา ให้เหยียบคลัตช์แล้วค่อย ๆ ลดตำแหน่งเกียร์ลง และหากเป็นรถเกียร์อัตโนมัติ ให้เปลี่ยนเกียร์ช้า ๆ โดยการไล่ลำดับลงมา ห้ามเปลี่ยนเกียร์เพื่อลดความเร็วทันทีเพราะอาจทำให้เครื่องยนต์พังได้

3. ชิดซ้ายให้เร็วที่สุด 

หลังจากลดความเร็วจนสามารถคุมรถได้แล้ว พยายามขับรถเข้าชิดเลนซ้ายให้เร็วที่สุดเพื่อนำรถหลบข้างทางไม่ให้กีดขวางทางของผู้อื่น ควรเปิดไฟฉุกเฉิน และบีบแตรเพื่อส่งสัญญาณเตือนรถคันอื่น ๆ ให้ทราบด้วย

4. ดึงเบรกมือช่วยหยุดรถ

เมื่อรถเบรกแตก การดึงเบรกมือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยชะลอความเร็วของรถได้ เพราะเบรกมือจะช่วยหน่วงความเร็วของล้อรถลง แต่ห้ามดึงแบบรวดเร็วเด็ดขาด ให้ดึงช้า ๆ จนสุด เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้รถชะลอความเร็วลงได้แล้ว

 

ดังนั้นจึงควรหมั่นเช็กระบบเบรกอยู่เสมอ เพราะหากเบรกยังใช้งานได้เหมือนปกติ ก็สามารถเซฟชีวิตจากอุบัติเหตุร้ายแรงได้ครับ หรือเพื่อความมั่นใจ ทาง  PTT Lubricants แนะนำให้เข้ามาตรวจเช็กระบบเบรกได้ที่ FIT Auto ทุกสาขา เพื่อความปลอดภัยในการขับขี่ทุกเส้นทางครับ ด้วยความห่วงใยจาก PTT Lubricants💙

 

ที่มา : 

https://shorturl.asia/qX9Pz 

https://www.tlt.co.th/news-detail/V1qPMO3LxY