น้ำมันเกียร์อัตโนมัติและน้ำมันเบรกใช้ร่วมกันได้จริงหรือ?

6650 ผู้เข้าชม

แชร์ Card image cap

น้ำมันเกียร์อัตโนมัติและน้ำมันเบรกใช้ร่วมกันได้จริงหรือ?

 

รู้ไว้ก่อนช่วยป้องกันรถพัง! กับคำถามเกี่ยวกับน้ำมันหล่อลื่นและของเหลวที่ใช้ในรถยนต์ ซึ่งหลาย ๆ คนอาจสงสัยหรือเคยได้ยินว่า ”น้ำมันเกียร์อัตโนมัติ” และ "น้ำมันเบรก” นั้นสามารถนำมาใช้งานร่วมกันได้จริงหรือ?  เพราะในเมื่อเป็นของเหลวเหมือนกันก็น่าจะใช้แทนกันได้ไม่มีปัญหา วันนี้ในช่วงของ ”ช่างตอบ by PTT Lubricants” เราจะมาไขคำตอบในเรื่องนี้ให้ทุกคนได้เข้าใจกัน

 

คำถาม : น้ำมันเกียร์อัตโนมัติและน้ำมันเบรกใช้ร่วมกันได้จริงหรือ?

ช่างตอบ : แม้ว่าทั้งน้ำมันเกียร์อัตโนมัติและน้ำมันเบรกจะเป็นของเหลวซึ่งทำหน้าที่ส่งกำลังในระบบของรถยนต์เหมือนกัน “แต่ไม่สามารถนำมาใช้งานทดแทนหรือสลับกันได้” เนื่องจากน้ำมัน/ของเหลวทั้ง 2 ประเภทนั้นถูกออกแบบมาให้มีคุณสมบัติเฉพาะที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน เราจึงจำเป็นต้องเลือกใช้ให้ตรงและเหมาะสมกับแต่ละระบบ โดยความแตกต่างระหว่างน้ำมัน/ของเหลวทั้ง 2 ประเภทนั้น สรุปได้ดังนี้

น้ำมันเกียร์อัตโนมัติ (Automatic Transmission Fluid, ATF)

เป็นน้ำมันส่งกำลังสำหรับระบบเกียร์อัตโนมัติที่ใช้งานในรถยนต์นั่งและยานยนต์อีกหลายประเภท โดยทำหน้าที่หลักในการหล่อลื่นเพื่อปกป้องชุดเกียร์และชิ้นส่วนโลหะจากการสึกหรอ ส่งกำลังในชุดทอร์คคอนเวอร์เตอร์เพื่อให้เพลาขับเกียร์หมุนได้ รวมถึงยังถูกใช้ในการสร้างแรงดันเพื่อบีบหรือคลายแผ่นคลัทช์เมื่อมีการเปลี่ยนเกียร์หรือเปลี่ยนอัตราทด ดังนั้นจะเห็นได้ว่าจากการทำงานของระบบเกียร์อัตโนมัติที่มีความซับซ้อนและหลายหน้าที่ จึงควรเลือกใช้น้ำมันส่งกำลังหรือน้ำมันเกียร์ที่มีคุณสมบัติเฉพาะและตรงตามสเปกที่คู่มือรถยนต์กำหนดไว้เพื่อสมรรถนะการทำงานของเกียร์ที่ดีและยืดอายุการใช้งานได้ยาวนาน โดยน้ำมันเกียร์อัตโนมัตินั้นจะประกอบด้วยน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานประเภทพาราฟินิกคุณภาพสูง (API Group II และ/หรือ III) เป็นหลัก ซึ่งเน้นคุณสมบัติความหนืดต่ำและมีค่าดัชนีความหนืดสูง ร่วมกับสารเพิ่มคุณภาพที่สำคัญ เช่น สารป้องกันการสึกหรอ สารปรับค่าความเสียดทาน สารปรับค่าความหนืด และสารป้องกันการเกิดฟอง เป็นต้น   อย่างไรก็ตามแม้  น้ำมันเกียร์อัตโนมัติถูกออกแบบมาให้มีความหนืดต่ำเพื่อการไหลตัวที่รวดเร็วในการควบคุมชุดคลัตช์และลดการสูญเสียกำลังที่ได้จากเครื่องยนต์ แต่ “ความหนืดของกลุ่มน้ำมันเกียร์อัตโนมัติก็ยังสูงกว่ากลุ่มน้ำมันเบรก” (DOT 3, DOT 4, DOT 4+, DOT 5 และ DOT 5.1) ดังนั้นหากเรานำน้ำมันเกียร์อัตโนมัติไปใช้งานกับระบบเบรก (ดิสก์เบรกและดรัมเบรก) จะส่งผลให้ประสิทธิภาพของการเบรกแย่ลงและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ เนื่องจากความหนืดของของเหลวสูงกว่าปกติจึงไหลตัวส่งกำลังได้ช้าลงและอาจต้องใช้แรงเหยียบเบรกมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีผลให้เกิดแรงดันและความร้อนสะสมภายในระบบเบรกสูงขึ้นมากเกินไปจนนำไปสู่ความเสียหายของอุปกรณ์ชิ้นส่วนต่าง ๆ และการรั่วไหลของน้ำมันตามท่อทางได้
​​​

น้ำมันเบรก (Brake Fluid)

เป็นน้ำมันส่งกำลังสำหรับระบบเบรก (ดิสก์เบรกและดรัมเบรก) ที่ใช้งานในรถยนต์นั่งและยานยนต์อีกหลายประเภท โดยทำหน้าที่เป็นตัวกลางส่งแรงดันไฮดรอลิกจากแม่ปั๊มเบรกไปยังลูกสูบเบรกเพื่อให้ผ้าเบรกและจานเบรกเกิดการเสียดสีกัน ส่งผลให้ล้อหมุนช้าลงและหยุดในที่สุด โดยน้ำมันเบรกที่นิยมใช้งานกันทั่วไปนั้นจะอ้างอิงตามมาตรฐาน FMVSS No.116 DOT 3 และ DOT 4 หรือเราคุ้นกันในชื่อ น้ำมันเบรก DOT 3 และ DOT 4 นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีการใช้งานน้ำมันเบรกมาตรฐาน DOT 4+ และ DOT 5.1 กันมากขึ้นในรถสมรรถนะสูงหรือระบบเบรกที่ต้องสัมผัสความร้อนสูงต่อเนื่อง ทั้งนี้แท้ที่จริงแล้วน้ำมันเบรกนั้นไม่ได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มน้ำมันหล่อลื่น (Lubricating Oil) เนื่องจากไม่ได้มีองค์ประกอบเป็นน้ำมันพื้นฐานตามเกณฑ์ของ API โดยน้ำมันเบรกนั้นประกอบด้วยสารกลุ่มไกลคอลอีเทอร์ (Glycol Ether) เป็นหลัก ซึ่งมีจุดเด่นในด้านความหนืดที่ต่ำเป็นพิเศษ สามารถไหลตัวได้ที่อุณหภูมิติดลบและส่งแรงดันได้อย่างรวดเร็วเพื่อให้ประสิทธิภาพการเบรกที่ดี นอกจากนี้สารกลุ่มไกลคอลอีเทอร์ยังมีอุณหภูมิจุดเดือดที่สูงเหมาะสมเพียงพอ จึงรองรับความร้อนที่เกิดขึ้นในระบบเบรกได้ ช่วยป้องกันการเดือด การเกิดฟองอากาศและ Vapor Lock ทั้งนี้น้ำมันเบรกที่มีจุดเดือดสูงขึ้นเช่น DOT 4, DOT 4+ และ DOT 5.1 นั้น จะมีการผสมสารกลุ่มบอเรทเอสเทอร์ (Borate Ester) เพิ่มเติมในสัดส่วนที่มากขึ้นอีกด้วย ดังนั้นจึงควรเลือกใช้น้ำมันเบรกตามสเปกที่คู่มือรถกำหนดและเหมาะสมกับสภาวะการใช้งาน


อย่างไรก็ตาม “ความหนืดของน้ำมันเบรกนั้นถือว่าต่ำเกินไปสำหรับการทำงานของระบบเกียร์อัตโนมัติ อีกทั้งยังไม่มีสารเพิ่มคุณภาพที่สำคัญ” เช่น สารป้องกันการสึกหรอและสารปรับค่าความเสียดทาน เป็นต้น ดังนั้นหากเรานำน้ำมันเบรกไปใช้งานจะส่งผลให้ประสิทธิภาพการเปลี่ยนเกียร์แย่ลง เกิดอาการเกียร์กระตุก สะดุดและเร่งความเร็วรถไม่ขึ้น นอกจากนี้ยังนำไปสู่การสึกหรอและความเสียหายรุนแรงของชิ้นส่วนเกียร์ตามมาได้

เมื่อรู้แบบนี้แล้ว หลังจากนี้ในขั้นตอนของการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันหล่อลื่นและของเหลวในรถยนต์ ก็ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ตรงประเภทการใช้งานจะดีที่สุด เพื่อเป็นการถนอมรถยนต์และช่วยให้เราสามารถใช้งานรถได้อย่างเต็มสมรรถนะสูงสุด รวมทั้งศึกษารายละเอียดมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ที่เราจะใช้ให้เหมาะกับรุ่นรถของเราด้วย