สัญญาณเตือน ให้เราต้องรีบตรวจเช็กระบบเบรก
“ระบบเบรก” มีความสำคัญลำดับต้น ๆ ของการใช้งานรถยนต์ เพราะเป็นระบบที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมรถและความปลอดภัยในการขับขี่ ดังนั้นเราควรดูแลรักษาอุปกรณ์และของเหลวในระบบเบรกให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุด แต่หากคุณใช้รถแล้วเจออาการเหล่านี้ นี่คือสัญญาณเตือนที่บอกเราว่าต้องรีบตรวจเช็กระบบเบรกโดยด่วน มีอะไรบ้างที่พบบ่อย มาดูกันครับ
สัญญาณไฟเตือนบนหน้าปัดรถ
หากสัญญาณไฟเตือนบนหน้าปัดขึ้นเป็นสัญลักษณ์เหมือนดึง “เบรกมือ” ค้างไว้ทั้งที่เราได้ลดเบรกมือลงสุดแล้ว แสดงว่าเกิดปัญหาขึ้นกับระบบเบรกครับ โดยสัญญาณไฟเตือนนี้จะมีทั้งรูปแบบที่เป็นสัญลักษณ์ตัวอักษร “P ภายในวงกลมสีแดง” หรือสัญลักษณ์ “อัศเจรีย์ (!) ภายในวงกลมสีแดง” หรือในรถบางรุ่นจะแยกสัญลักษณ์ทั้ง 2 แบบนี้ออกจากกันเพื่อความชัดเจน ซึ่งปัญหานี้โดยมากแล้วมีสาเหตุมาจากน้ำมันเบรกในกระปุกลดลงต่ำกว่าระดับที่กำหนด จึงแนะนำให้ตรวจเช็กและแก้ไขดังนี้ครับ
1) ตรวจเช็กความหนาของผ้าเบรกด้านหน้าและด้านหลัง เพราะหากผ้าเบรกหมดหรือบางมากเกินไป จะทำให้ลูกสูบเบรกต้องยันผ้าเบรกลึกกว่าเดิม และน้ำมันเบรกถูกดันออกจากหม้อเบรกมากขึ้น ปริมาณจึงลดลงกว่าเดิม โดยปัญหานี้แก้ได้ด้วยการเปลี่ยนผ้าเบรกใหม่ครับ
2) ตรวจเช็กการสึกหรอของจานเบรกด้านหน้าและด้านหลัง
3) ตรวจเช็กรอยรั่วของหม้อลมเบรก
4) ตรวจเช็กการรั่วซึมของน้ำมันเบรกบริเวณชิ้นส่วนต่าง ๆ เช่น สายน้ำมันเบรก แม่ปั๊มเบรก และข้อต่อ เป็นต้น หากพบการชำรุดหรือรั่วซึมให้เปลี่ยนใหม่และแก้ไขทันทีครับ
อย่างไรก็ตามหากตรวจเช็กแล้วพบว่าระดับน้ำมันเบรกต่ำเกินไปแต่ยังไม่สามารถนำรถเข้าซ่อมได้ทันที ควรแก้ไขเบื้องต้นโดยการเติมน้ำมันเบรกเพิ่มเข้าไปจนถึงระดับที่เหมาะสมเพื่อให้ระบบเบรกยังพอทำงานได้อย่างปลอดภัยครับ
สำหรับกรณีที่พบสัญญาณไฟ “ABS” ขึ้นแจ้งเตือนนั้น อาจมาได้จากหลายสาเหตุ เช่น เซนเซอร์สกปรก สายไฟขาด-หลุด-หลวม ระบบกล่องควบคุมเสียหาย และอุปกรณ์จ่ายน้ำมันเบรกรั่ว เป็นต้น โดยหากพบสัญญาณไฟเตือน ABS นี้ให้รีบนำรถเข้าแก้ไขโดยทันที เพราะอาจทำให้รถเสียการควบคุมและลื่นไถลได้โดยเฉพาะการเบรกรถบนผิวถนนที่เปียกลื่น รวมถึงยังเสี่ยงต่อการเกิดล้อล็อกได้ในกรณีต้องเบรกกระทันหันรุนแรงครับ
เบรกแล้วพวงมาลัยสั่น / เบรกสู้เท้า
เมื่อใดก็ตามที่เราแตะเบรกแล้วรู้สึกได้ถึงอาการสั่นของพวงมาลัย หรือมีอาการ “เบรกสู้เท้า” ซึ่งแป้นเบรกจะขยับสู้แรงเท้าเราเป็นจังหวะขณะที่รถวิ่ง นี่เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า “จานเบรกเริ่มคดงอหรือบิดตัวไม่เรียบสม่ำเสมอกับผ้าเบรก” เนื่องจากทำให้แผ่นจานเบรกแกว่งไม่ได้ศูนย์ อีกทั้งหน้าสัมผัสส่วนที่คดงอนั้นจะต้านการเคลื่อนที่ของลูกสูบและดันผ้าเบรก จึงเกิดแรงสะเทือนย้อนกลับมายังแป้นเบรกและพวงมาลัย จึงแนะนำให้ตรวจเช็กและแก้ไขดังนี้ครับ
1) เจียรจานเบรกใหม่ เพื่อให้หน้าสัมผัสเรียบและสม่ำเสมอกับผ้าเบรก
2) หากเจียรจานเบรกไม่ได้หรือทำให้จานเบรกบางเกินไป ก็ต้องเปลี่ยนจานเบรกใหม่เพื่อความปลอดภัยที่สุดครับ
เบรกแล้วมีเสียงดัง
หากเราเหยียบแป้นเบรกแล้วได้ยินเสียงดังที่ผิดปกติในลักษณะ “อี๊ด ๆ” หรือ “ครืด ๆ” เหมือนกับเสียงโลหะเสียดสีหรือขูดกัน แต่เมื่อเราปล่อยเท้าออกจากเบรกแล้วเสียงนั้นกลับหายไป นี่เป็นสัญญาณอย่างหนึ่งที่บ่งชี้ว่า “ผ้าเบรกใกล้หมดหรือหมดแล้ว” ทำให้โลหะที่ยึดผ้าเบรกเกิดการเสียดสีกับจานเบรกโดยตรงและเกิดเสียงดังขึ้น
ดังนั้น จึงแนะนำให้ตรวจเช็กความหนาของผ้าเบรกและเปลี่ยนใหม่เมื่อผ้าเบรกเหลือน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เพราะหากฝืนใช้งานต่อไปเรื่อย ๆ จะส่งผลให้จานเบรกเป็นรอยจนไม่สามารถเจียรให้กลับมาเรียบเหมือนเดิม รวมถึงอาจทำให้ความหนาและความแข็งแรงของจานเบรกลดลงได้ครับ
*โดยทั่วไปกำหนดให้ความหนาของผ้าเบรกต้องไม่ต่ำกว่า 2 มิลลิเมตร
นอกจากนี้เสียงดังขณะเหยียบเบรกอาจมีสาเหตุมาจากการมีกรวด ฝุ่น ทราย หรือหินขนาดเล็กหลุดเข้าไปในชุดก้ามปูเบรก (คาลิปเปอร์) หรืออยู่บริเวณระหว่างผิวสัมผัสของผ้าเบรกและจานเบรก ทำให้ผิวไม่แนบสนิทและเกิดเสียงดังได้ จึงแนะนำให้ตรวจเช็กความสะอาดของจานเบรกและผ้าเบรกอย่างสม่ำเสมอครับ
เบรกแข็งหรือจมมากผิดปกติ
หากเราเหยียบเบรกแล้วรู้สึกได้ถึงอาการเบรกแข็งผิดปกติ หรือเรียกว่าอาการ “เบรกตื้อ” ซึ่งทำให้เราต้องออกแรงเหยียบมากกว่าเดิมเพื่อหยุดหรือชะลอรถ นี่เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่ามีปัญหาเกิดขึ้นกับชิ้นส่วนอุปกรณ์ของระบบเบรก เช่น แรงดูดสุญญากาศของหม้อลมเบรกต่ำเกินไป เกิดการชำรุดของปั๊มดูด ไดชาร์จชำรุด วาล์ว PVC/ Combo Vale ผ้าในหม้อลมเบรกรั่ว หรือสายลมรั่ว เป็นต้น
ในทางกลับกันหากรู้สึกได้ถึงอาการเบรกนุ่มหรือจมลึกต่ำกว่าปกติ หรือเรียกว่ามีอาการ “เบรกจม” หรือ “เบรกต่ำ” ซึ่งทำให้เมื่อเราเหยียบเบรกค้างไว้ แป้นเบรกจะค่อย ๆ จมลงจนสุด โดยปัญหานี้มักมาจากชุดลูกยางของแม่ปั๊มเบรกตัวบน (ใกล้กับแป้นเบรก) สึกหรอหรือบวมทำให้เกิดการรั่วบริเวณขอบ จึงไม่สามารถสร้างแรงดันน้ำมันเบรกให้ไหลไปที่ปลายทางได้เพียงพอ ซึ่งการรั่วซึมภายในระบบเบรกเช่นนี้ระดับน้ำมันเบรกจะไม่ลดลงมากจนผิดปกติ แตกต่างจากกรณีที่มีการรั่วซึมออกนอกระบบตามจุดข้อต่อทางเดินต่าง ๆ ของระบบท่อน้ำมันเบรก ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำมันเบรกลดลงต่ำมาก และเกิดอาการเบรกจมได้เช่นเดียวกัน
ดังนั้น จึงแนะนำให้รีบนำรถเข้าตรวจเช็กและซ่อมแซมโดยทันที เพราะหากปล่อยไว้นานหรือฝืนใช้ต่อไปอาจเกิดอาการเบรกแตก หรือระยะเบรกยาวขึ้นจนเบรกไม่ทันและเกิดอุบัติเหตุรุนแรงได้
คราบน้ำมันเบรกรั่วซึมหยดลงบนพื้น
ปัญหาน้ำมันและของเหลวรั่วซึมเป็นรอยคราบใต้ท้องรถ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันชนิดใดก็ตาม เราควรต้องรีบตรวจเช็กโดยด่วน ซึ่งสามารถทำได้เองเบื้องต้นโดยการเช็กระดับน้ำมันและของเหลวจากก้านวัด กระปุกน้ำมัน และถังพัก เช่น น้ำมันเครื่อง น้ำมันเกียร์ น้ำมันพวงมาลัยพาวเวอร์ น้ำหล่อเย็น และน้ำมันเบรก เป็นต้น โดยแนะนำให้แก้ไขเบื้องต้นแบบเร่งด่วนโดยการเติมน้ำมันหรือของเหลวเพิ่มจนถึงระดับที่เหมาะสม เพื่อให้ระบบเหล่านี้เพียงพอทำงานได้และช่วยป้องกันความเสียหายรุนแรงก่อนนำรถเข้าตรวจเช็กและซ่อมแซมต่อไป
สำหรับการรั่วซึมของน้ำมันเบรกนั้นเกิดได้จากหลายชิ้นส่วน เช่น สายอ่อนเบรกแตก ท่อทางเดินน้ำมันเบรกแตกหรือรั่วซึมตามข้อต่อ ลูกยางแม่ปั๊มเบรกและแม่ปั๊มเบรกเก่าหรือชำรุดเสียหาย เป็นต้น ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่อันตรายอย่างมาก จึงควรต้องนำรถเข้าตรวจเช็กและแก้ไขทันทีที่พบเห็นครับ