5 ข้อควรปรับ เพื่อให้ขับรถปลอดภัยแถมไม่ปวดหลัง

1922 ผู้เข้าชม

แชร์ Card image cap

5 ข้อควรปรับ เพื่อให้ขับรถปลอดภัยแถมไม่ปวดหลัง

เรื่องของท่านั่งระหว่างขับรถใครว่าไม่สำคัญ เพราะการนั่งด้วยท่าทางที่ถูกต้องนอกจากจะช่วยลดอาการปวดเมื่อยระหว่างการขับรถแล้ว ยังช่วยในเรื่องของความปลอดภัยได้อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่มีอาการออฟฟิศซินโดรม หากต้องมาอยู่ในท่านั่งขับรถนาน ๆ อาการปวดเมื่อยตามจุดต่าง ๆ ก็อาจยิ่งเพิ่มมากขึ้นได้

ดังนั้น การจัดท่าทางการนั่งพร้อมกับการปรับแต่งบริเวณที่นั่งคนขับให้รับกับหลักสรีระที่ถูกต้อง จะช่วยลดความทรมานจากการอยู่หลังพวงมาลัยเป็นเวลานาน โดยคุณสามารถนำเทคนิคเหล่านี้ไปลองใช้ดูกันได้เลย

1.ปรับความสูงเบาะ

ความสูงของเบาะมีผลต่อแผ่นหลังของเราโดยตรง หากปรับระดับของเบาะต่ำไป จะทำให้เราตัวงอและเกิดอาการปวดหลัง จึงแนะนำให้ผู้ขับปรับระดับของเบาะจนสามารถมองเห็นระยะตัวรถรอบคันได้ชัดเจน โดยเฉพาะหน้ารถ คือ ปรับเบาะให้สูงจนเหลือพื้นที่เหนือศีรษะประมาณ 1 ฝ่ามือ หรือปรับให้สูงสุดเท่าที่จะทำได้ พร้อมกับยกปลายเบาะให้เงยขึ้นเล็กน้อย จะส่งผลดีต่อทัศนวิสัย และยังช่วยให้ควบคุมรถง่ายขึ้นอีกด้วย

2. ปรับระยะขา

การปรับระยะขาให้เข่าไม่งอจนเกินไป ก็ช่วยให้ขับขี่ได้สบายขึ้นเช่นกัน โดยการปรับระยะขาใกล้/ไกลควรคำนึงถึงการเหยียบเบรกได้อย่างมีประสิทธิภาพ วิธีปรับนั้น คือ ควรนั่งให้สะโพกให้แนบเบาะลึกที่สุด ปรับระยะเบาะให้เข่ามีมุมงอ เพื่อให้สามารถเหยียบเบรกและคันเร่งได้เต็มที่ การปรับให้อยู่ในระยะประมาณนี้จะช่วยลดการบาดเจ็บ หากเกิดการชนจากด้านหน้า และแนะนำว่าอย่าปรับเบาะไกลเกินไปจนขาตึง เพราะจะทำให้เหยียบเบรกไม่ถนัดได้

3. ปรับพนักพิงหลัง

นอกจากเรื่องของการปรับเบาะแล้ว การปรับพนักพิงก็สำคัญ ซึ่งการปรับพนักพิงให้ช่วยถนอมหลังของคุณนั้น ควรปรับให้ตั้งตรงที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยที่ยังรู้สึกว่านั่งได้สบายอยู่ ควรเอนเพียงเล็กน้อยให้อยู่ที่ประมาณ 110 องศา เพื่อให้ยังพอมีระยะห่างจากพวงมาลัย และสามารถนำมือไปวางบนพวงมาลัยได้ถนัด แขนไม่เกร็งจนเกินไป 

4. ปรับตำแหน่งหัวหมอน

นอกเหนือจากการปรับเบาะ ปรับระยะขา ปรับพวงมาลัย และปรับพนักพิง ยังมีอีกหนึ่งจุดที่ก็สำคัญไม่แพ้กัน นั่นก็คือการปรับหัวหมอนของที่นั่ง โดยวิธีการปรับหัวหมอนให้พอดีกับศีรษะควรให้ตำแหน่งใบหูของเราอยู่กึ่งกลางของหัวหมอนเมื่อมองจากด้านข้าง การปรับหัวหมอนแบบนี้จะช่วยรองรับแรงกระแทกให้ศีรษะเราได้เมื่อถูกชนจากด้านหลัง นอกจากนี้ยังอาจใช้หมอนรองคอเสริม เพื่อลดอาการปวดเมื่อยต้นคอ และช่วยลดแรงกระแทกเมื่อเกิดอุบัติเหตุได้อีกทางหนึ่ง

5. ปรับระยะพวงมาลัย

การจับพวงมาลัยให้ถูกวิธีก็ช่วยลดอาการปวดหลังขณะขับรถได้เช่นกัน และยังช่วยให้การควบคุมรถง่ายขึ้นอีกด้วย โดยควรปรับพวงมาลัยให้มีความสูงไม่เกินช่วงไหล่ และปรับมุมจับพวงมาลัยให้อยู่ในตำแหน่ง 3 และ 9 นาฬิกา จะช่วยให้หมุนพวงมาลัยได้อย่างรวดเร็ว พวงมาลัยหลุดจากมือยาก ทั้งยังช่วยลดการปวดเมื่อยช่วงหัวไหล่ได้ด้วย ส่วนการปรับระยะใกล้/ไกลนั้น ให้ปรับจนให้แขนทั้งสองสามารถงอได้ ไม่เหยียดตึง ส่วนระยะสูง/ต่ำต้องปรับให้มองเห็นมาตรวัดต่าง ๆ อย่างครบถ้วน แนะนำว่าไม่ควรจับพวงมาลัยด้วยมือเดียว หรือหมุนด้วยการคล้อง และคลึง เพราะพวงมาลัยอาจหลุดมือ เสียการควบคุมรถได้ 

เพียงลองปรับตาม 5 ข้อนี้ ก็อาจช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยของผู้ขับได้ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องขับรถทางไกลหรือต้องใช้เวลาอยู่บนรถนาน ๆ จะช่วยให้นั่งได้สบายตัวมากขึ้น และทำให้คุณขับขี่ได้อย่างปลอดภัยตลอดการเดินทาง